Photo: Evan Hutomo / Shutterstock.com

วัดเรียวทันจิ [Ryotanji Temple]

การผสมผสานกันระหว่างศิลปะในลัทธิชินโตกับศิลปะในพุทธศาสนา นิกายมหายาน

หลายๆคนที่มีโอกาสไปท่องเที่ยวในดินแดนที่ร่ำรวยด้วยวัฒนธรรมที่สวยงาม อย่างประเทศญี่ปุ่น อาจจะมีความรู้สึกประหลาดใจเมื่อพบเห็นสถาปัตยกรรมภายในวัดเรียวทันจิ[Ryotanji] เนื่องจาก วิหารหลักของวัดมีรูปแบบศิลปะที่พบได้ในศาลเจ้าในลัทธิชินโตกับรูปแบบของวัดในพุทธศาสนารวมอยู่ในอาคารหลังเดียวกัน การหลอมรวมกันทางศิลปะเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึง การเข้ามาของพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านั้นลัทธิชินโตได้ถือกำเนิดขึ้นในญี่ปุ่นอยู่ก่อนแล้ว เมื่อพุทธศาสนาเดินทางเข้ามา ทั้งลัทธิชินโตและพุทธศาสนาต่างก็ปรับตัวเข้าหากันและสอดรับได้เป็นอย่างดี เพราะทั้งสองต่างมีคำสอนหรือปรัชญาที่คล้ายคลึงกัน นั่นเอง

ประวัติวัดเรียวทันจิ

วัดเรียวทันจิ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 713 โดยพระภิกษุเกียวกิ [Gyoki] วัดดังกล่าวเคยถูกไฟไหม้ครั้งหนึ่ง ใน ปี ค.ศ.1572 โดยกลุ่มขุนนางตระกูลRmagawa หากแต่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมใหม่โดยเศรษฐีตระกูล ลี ในสมัยเอโดะ

เมื่อเราเดินเข้าสู่บริเวณวัดเรียวทันจิ สองข้างทางที่ขนาบตัววิหารซ้ายขวาเรียงรายไปด้วยสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาลัทธิความเชื่อทั้งสิ้น กล่าวคือ ทางด้านซ้ายของวิหารจะเป็นศาลเจ้าอิโนยากุ[Iinoyagu Shrine] ส่วนทางด้านขวาจะเป็นพื้นที่สำหรับตั้งสุสานหิน พื้นที่โดยรอบวัด มีต้นไม้ดอกไม้นานาชนิด ปลูกอยู่เต็มไปทั่ว ทำให้เมื่อเดินเข้าไปจะรู้สึกได้ถึงความร่มรื่นและเงียบสงบ

อาคารภายในวัดเรียวทันจิที่ทางการอนุญาติให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้นั้น เป็นพื้นที่จัดแสดงพระพุทธรูปปางต่างๆ อาทิ เช่น พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพักตร์แลดูเคร่งขรึมเมื่อมองจากด้านหน้า แต่เมื่อมองจากด้านข้างจะเห็นพระพุทธรูปยิ้มสรวลเล็กน้อย ในขณะที่เดินภายในตัวอาคาร เมื่อเสียงเท้ากระทบกับพื้นจะได้ยินเสียงไม่้เสียดสีกันอย่างไพเราะคล้ายกับเสียงของนกไนติงเกลที่กำลังขับขาน การออกแบบพื้นให้มีเสียงเช่นนี้ อาจเพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยหรืออาจเพื่อเป็นการแจ้งให้ทราบว่ามีแขกมาเยือน พื้นที่มีเสียงนกไนติงเกลเช่นนี้พบในปราสาทนิโจ ด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเป็นไปได้ว่า อาคารหลังนี้ซึ่งสร้าง ในปี ค.ศ.1676 จะได้รับแรงบันดาลใจในการทำเสียงพื้นกระทบให้เหมือนเสียงนกไนติงเกลร้องมาจากปราสาทนิโจ ซึ่งสร้างก่อนหน้าในปี ค.ศ. 1626 ก็เป็นได้

อาคารหลังนี้ได้มีการเชื่อมต่อไปยังอาคารขนาดเล็กส่วนอื่นๆอีก โดยอาคารเหล่านั้นจะเป็นพื้นที่จัดแสดงทรัพย์สมบัติของเศรษฐีตระกูลลี ด้านหลังของอาคารเป็นสวนในลัทธิเซ็น ออกแบบโดย Enshi Kobori ภายในสวนมีสระน้ำรูปมังกร มีหินน้อยใหญ่ประดับอยู่กลางสระน้ำ หินก้อนหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ขององค์พระพุทธรูป วางอยู่ตรงกลางสระ ขนาบด้วยหินสองข้างซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนองค์จตุโลกบาล เทพพิทักษ์ซึ่งประจำอยู่สองข้างของทางเข้าวิหาร บริเวณขอบสระมีหินอ่อนที่แบนเรียบ ไว้สำหรับให้คนนั่งเพื่อบูชาหรือแสดงความเคารพสักการะแก่องค์พระพุทธเจ้า

วัดแห่งนี้นับเป็น 1 ใน 5 วัดในเขตทะเลสาบฮามานะที่มีชื่อเสียงที่สุด ด้วยความสวยงามของธรรมชาติที่อยู่รายรอบวัด ประกอบกับความสวยงามและประณีตบรรจงทางศิลปะ ซึ่งพบได้บนตัวสถาปัตยกรรมและองค์พระพุทธรูป จึงนับว่าคุ้มค่ากับการมาเยือนและซื้อตั๋วเข้าชมในราคา 400 เยน การเดินทางมายังวัดแห่งนี้นับว่าสะดวกเพราะอยู่ห่างจากเส้นถนนหลักไม่ไกลมากนัก อีกทั้ง ถ้าหากเดินทางโดยสารมาโดยรถขนส่งประจำทางก็นับว่าสะดวกเช่นกัน เพราะมีจุดรอรถประจำทางอยู่ห่างจากตัววัดไม่มากนัก

0
0
هل كانت هذه المقالة مفيدة؟
Help us improve the site
Give Feedback

شارك في المناقشة

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.